cover_image_desktop
pin Better Living
AgriTech ปลดล็อกศักยภาพการเกษตรสู่ความยั่งยืน
ดูข่าวสารทั้งหมด

ฟังเสียงธรรมชาติผ่านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ

ขณะที่องค์กรธุรกิจกำลังเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเพื่อให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ แต่ภาคการเกษตรที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจประเทศ เพราะมีแรงงานถึง 40% ของประชากรทั้งหมด ครอบคลุมกว่า 6 ล้านครัวเรือน กลับมีการเติบโตที่ช้าลงตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าเหลือแค่ 8-9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในปัจจุบัน อีกทั้งมีความเปราะบางสูงกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ว่าอนาคตการเกษตรของไทยจะมีทางรอดได้อย่างไร?

ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ หรือ คุณนุุ่น ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท ListenField สตาร์ทอัพผู้ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเกษตร หรือ Integrated Predictive Agronomic Platform และยังคว้ารางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนภาคการเกษตร ปี 2024 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มาร่วมแชร์ไอเดียและข้อเสนอแนะในงานเสวนา หัวข้อ "AgriTech : ปลดล็อกศักยภาพการเกษตรสู่ความยั่งยืน" ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน SX2024 ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและแนวทางการใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาภาคการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.รัสรินทร์ เล่าว่า วิธีคิดจะต้องเริ่มจากการฟังเสียงธรรมชาติ เกษตรกรต้องเข้าใจเรื่อง ดิน น้ำ อากาศ ได้อย่างถูกต้องว่า ธรรมชาติกำลังบอกอะไรเรา เพราะจะทำให้สามารถปรับตัวและวางแผนทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การเกษตรแบบเดิมจึงไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงลึกและแม่นยำ

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแปรปรวนของอากาศที่มีความถี่และรุนแรงขึ้น ทั้งอุณหภูมิ และการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำ นอกจากนี้ ดินเพื่อการเกษตรก็ถูกทำลายไปมากจากหลายปัจจัย ดังนั้น เกษตรกรต้องหันมาเน้นเรื่องวิธีการทำการเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงระบบการเกษตรเชิงฟื้นฟู หรือ Regenerative Farming System โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อฟื้นฟูและคืนสมดุลให้กับดินและสิ่งแวดล้อม เพื่อนําไปสู่สุขภาวะที่ดีของดิน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต 

อย่างไรก็ตาม ดร.รัสรินทร์ มองว่าภาพใหญ่ของการพัฒนาการเกษตรต้องมาก่อน ภาครัฐจะต้องกำหนดทิศทางให้ชัดเจนเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของทั้งคนในประเทศและประชากรโลก ซึ่งเทรนด์การบริโภคอาหารก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เน้นการเพาะปลูกให้ได้ปริมาณเยอะๆ แต่ต้องรู้ดีมานด์และซัพพลาย

เกษตรกรใช้เทคโนโลยีแค่ไหน

พอพูดเรื่องเทคโนโลยี คำถามแรกจากเกษตรกรก็คือ จะมีเงินลงทุนเทคโนโลยีได้อย่างไร จากประสบการณ์ในการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรมากว่า 7 ปี ดร.รัสรินทร์ ได้เรียนรู้ว่าเกษตรกรรายย่อยจะยังไม่มีเงินลงทุนเทคโนโลยีในช่วงเริ่มต้นได้เอง จะต้องมีการสร้างระบบนิเวศ แล้วดูว่าแต่ละผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้ประโยชน์อะไรจากการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เกษตรกร ชุมชน เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด หน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณ 

จุดเริ่มต้น ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตร และต้องมีการทำงานอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล สุดท้าย เราต้องคำนวณออกมาให้ได้ว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเท่าไหร่ (Return on Investment) 

ดร.รัสรินทร์ เล่าถึงโครงการเกษตรยั่งยืนบนที่สูง ที่ ListenField  ทำร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกพืชสมุนไพรเพื่อผลิตเครื่องหอม อ.นาน้อย จ.น่าน  หรือ Essen Plantors Nan โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bangk: ADB) เมื่อปีกว่าที่ผ่านมาว่า อันดับแรก เราต้องไปทำความเข้าใจก่อน เพื่อให้รู้ว่าเกษตรกรมีปัญหาอะไร จากนั้นจึงนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปเติมเต็มให้เกษตรกรทำงานได้สะดวกขึ้น เพิ่มคุณภาพการผลิตให้ดีขึ้น จะไม่ได้ไปยัดเยียดให้เกษตรกรต้องใช้เทคโนโลยี และต้องปรับ Mindset ด้วยว่าเราไม่ได้เข้าไปช่วย แต่การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดจากความต้องการของชุมชนและเกษตรกร

แน่นอน เกษตรกรบางรายอาจรู้สึกว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เราเพียงแค่ให้เขารับรู้ว่ามีเทคโนโลยีอะไร แต่จะไม่ไปคาดหวังหรือคาดคั้นให้พวกเขาต้องมาใช้งาน โดย ListenField จะฝึกอบรมเกษตรกรที่เป็นเจนสอง/สาม ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ดร.รัสรินทร์ ย้ำว่า หัวใจสำคัญคือทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกันจริงๆ เพราะนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกร ขณะที่ ListenField ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิต และการบริหารจัดการฟาร์ม ซึ่งจะไม่ได้อยู่ประจำในพื้นที่ ทำให้ต้องวางแผนตั้งแต่แรกเลยว่า ทำอย่างไรจะให้มีการใช้เทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่อง

ListenField จะเน้นคิดค้นเทคโนโลยีที่จับต้องได้ และสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาการเกษตรได้จริง ตั้งแต่เรื่องดิน ไปจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว แต่สิ่งสำคัญคือเกษตรกรจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ มีข้อมูลที่เหมาะสมในการบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างยั่งยืน โดย ListenField ได้สร้างโมเดลสำหรับการวิเคราะห์ดินที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยการเชื่อมต่อระบบ API (Application Programming Interface) ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมนำข้อมูลมาระบุถึงปัญหาความเครียดจากการขาดน้ำของพืช หรืออัตราการเจริญเติบโตของพืช แผนที่ดาวเทียมจะทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์เพื่อเอกซเรย์ให้เห็นปัญหาได้อย่างแม่นยำ ไม่ใช่แค่ตามองเห็น ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกถึงการเจริญเติบโตของพืชภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ 

นอกจากข้อมูลการจัดการฟาร์มให้มีคุณภาพแล้ว ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับเกษตรกรเป็นรายแปลงได้ด้วย 

ปรับตัว เปลี่ยนแนวคิด

ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย  (UN Global Compact Network Thailand) เล่าในงานเสวนาครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรมีการใช้ทรัพยากร ทั้งแรงงาน ดิน และน้ำ ไปอย่างมหาศาล แต่มีมูลค่าไม่ถึง 10% ของ GDP สะท้อนให้เห็นว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะการทำเกษตรแบบเดิมไม่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากภาคการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิกฤตจากภัยแล้ง หรือน้ำท่วม บางพื้นที่อาจต้องเปลี่ยนไปทำการเกษตรแบบผสมผสาน เปลี่ยนสายพันธุ์พืช ทำการเพาะปลูกแบบใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย รวมถึงพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร   

นอกจากนี้ การผลิตจะต้องสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนด้วยการผลิตอาหารปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลิตที่ตอบสนองเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น ความนิยมโปรตีนทางเลือกจากพืชและแมลง

ดร.ธันยพร มองว่าการปรับตัวของเกษตรกรยุคใหม่ไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยี แต่สิ่งสำคัญคือนวัตกรรมทางความคิด สามารถผสมผสานเทคโนโลยีทันสมัยเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งส่งเสริมการเกษตรแบบคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง 

ขณะเดียวกัน การประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2024 เมื่อปลายเดือนกันยายน 2567 ก็มีการพิจารณามาตรการการเงินเพื่อความยั่งยืน (Finance for Sustainability) และเร่งผลักดันให้เกิดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะออกประกาศในเร็วๆ นี้

ดร.ธันยพร  ยังบอกอีกว่าเกษตรกรมีความรอบรู้แต่ยังไม่ระมัดระวัง การทำการเกษตรที่ต้องการได้รายได้มากๆ แล้วใช้เงินลงทุนเพาะปลูกหลายๆ รอบ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นหนี้ พร้อมทั้งเสนอแนะให้เกษตรกรน้อมนำศาสตร์พระราชาในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางที่จะทำให้รอดและยั่งยืน

idownload
gplay
istore