SX2023 HACKATHON ส่งเสริมเยาวชนพัฒนานวัตกรรมเพื่อความเท่าเทียม สู่สังคมที่ยั่งยืน
การค้นหาสุดยอดทีมนวัตกรที่สามารถใช้องค์ความรู้มาสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลกระทบเชิงบวกด้านการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างเท่าเทียม ผลกระทบเชิงบวกด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ ผ่านการจัดแข่งขันโครงการ SX2023 HACKATHON โดยในปีนี้คณะผู้จัดงาน Sustainability Expo 2023 กำหนดให้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Innovation for Social Inclusion” หรือ “กลมกลืนอย่างสร้างสรรค์และสร้างโอกาสสู่สังคมที่ยั่งยืน” โดยเป็นการแข่งขันในระดับเยาวชนอายุระหว่าง 15-25 ปี ในรูปแบบทีม 3-4 คน โดยสมาชิกในแต่ละทีมจะต้องมีความสามารถในด้านธุรกิจ (Business) การออกแบบ (Design) และเทคโนโลยี (Technology) อย่างน้อยด้านละ 1 คน ซึ่งในปีนี้มีน้อง ๆ สนใจส่งผลงานเข้าสมัครรวมกว่า 100 ทีม ผ่านเข้าสู่รอบ Final Pitching จำนวน 7 ทีม เพื่อนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการบนเวที SX IDEA LAB งาน Sustainability Expo 2023 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566
สำหรับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสิน ประกอบด้วย คุณต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้อำนวยการคณะจัดงาน SX2023, คุณธัชวัธ เตชะมงคลจิต ผู้บริหารสูงสุด บริษัท รอยซ์ ยูนิเวอร์แซล จำกัด, ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Vice President ฝ่ายผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), คุณกรณิศ ตันอังสนากุล Healthy Oceans Manager บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ ดร.รณกร ไวยวุฒิ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกณฑ์การตัดสินของคณะกรรมการมุ่งเน้นใน 4 ประเด็น คือ 1) มีการกำหนดปัญหาและทิศทางของโครงการที่กระทบกับกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก 2) ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรมที่มีผลกระทบเชิงบวกด้านการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างเท่าเทียม และผลกระทบเชิงบวกด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ 3) ความเป็นไปได้ในเชิงการทำธุรกิจ และ 4) การนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต
ผลการตัดสิน
รางวัลชนะเลิศ
เจ้าของผลงาน ทีม CARE
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ชื่อผลงาน DIABETREAT
สุดยอดนวัตกรแห่งปีจากโครงการแข่งขัน SX2023 HACKATHON เป็นผลงานจากนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ประกอบด้วย คุณเปรม รักษ์ศิริวณิช คุณเอกอนันต์ โชคเจริญเกียรติ และคุณอชิรวิชญ์ วนาสินชัย ที่คิดค้นและสร้างสรรค์เครื่อง “DIABETREAT” ขึ้นมา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจเท้าของผู้ป่วยที่เป็นโรคเหวานว่าเข้าสู่ระยะเบาหวานลงขาแล้วหรือไม่ เพื่อที่จะได้ดูแลจัดการอาการและลดโอกาสการถูกตัดขา โดยมีฟังก์ชันการทำงาน 4 ส่วน ได้แก่ 1) การตรวจเท้าด้วย Monofilament 2) การตรวจความดันที่เท้า 3) การตรวจดูรูปเท้าด้วยระบบ AI และ 4) การตรวจอุณหภูมิเท้าเพื่อตรวจแผลภายในเท้า ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้จะช่วยสรุปผลตรวจเบื้องต้นให้กับแพทย์และผู้ป่วย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
เจ้าของผลงาน ทีม REYOUNG
คณะบริหารธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ชื่อผลงาน REYOUNG
"REYOUNG" เป็น Digital Community platform ผลงานของนักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ ประกอบด้วย คุณไพศาล สิทธิวงศ์ คุณกัมปนาท สุนทรธรรม คุณชัชนันท์ ทองสุข และคุณจักรกริช ธนะกิจเจริญพัฒนา มุ่งส่งเสริมให้สังคมผู้สูงวัยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้นจากการทำกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ มีสุขภาพใจที่ดีมากเพราะได้ออกมาทำกิจกรรมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตสังคมผู้สูงวัยให้ดียิ่งขึ้นจากการที่กิจกรรมของ REYOUNG จะสามารถสร้างรายได้ให้ผู้สูงวัยได้อีกด้วย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
เจ้าของผลงาน ทีม The Visionaries
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต
ชื่อผลงาน Visionaries Smart Cane
ผลงานภายใต้ความร่วมมือของนักศึกษาจาก 2 สถาบัน ประกอบด้วย คุณวรินทร นิลศาสตร์ คุณรุจิดา มีลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Ms.Aye Khin Khin Hpone คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้สร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือด้านการเคลื่อนไหวอันทรงพลังที่ชื่อว่า “Visionaries Smart Cane” ช่วยให้ผู้ใช้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นได้สัมผัสกับความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความเป็นอิสระพร้อมกับแอพพลิเคชันที่เชื่อมต่อกับระบบช่วยเดินและระบบนำทาง มีการอัพเดตสถานะแบบเรียลไทม์ที่ขับเคลื่อนด้วยเซ็นเซอร์ LIDAR มีการตรวจจับระยะไกล พร้อมด้วยอัลกอริธึม AI ในตัว พร้อมหูฟังที่รองรับภาษไทย
ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย
เจ้าของผลงาน ทีม T-nity
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ชื่อผลงาน Mind Shoes
"Mind Shoes" เป็นแผ่นรองพื้นรองเท้าอัจฉริยะสำหรับผู้สูงวัยแบบ all-in-one ผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของ นายภูวดล เสงี่ยมมีเจริญ คุณภาณุวัฒน์ ธรรมคง และคุณกมลชนก ไวยบุรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยการทำงานของแผ่นรองพื้นรองเท้าอัจฉริยะนี้ได้นำระบบเซ็นเซอร์ความดันแบบคาปาซิทีฟ (CPS) 24 มาใช้ในการตรวจสอบความดันฝ่าเท้าเพื่อตรวจจับอาการบาดเจ็บจากการเดิน หกล้ม หรือออกกำลังกายแบบเรียลไทม์ พร้อมมีอาร์เรย์ 24 CPS ซึ่งเป็นระบบเก็บข้อมูลพร้อมตัวส่งสัญญาไร้สาย โดยเมื่อเกิดความผิดปกติระบบจะแจ้งเตือนเหตุไปยัง application บนโทรศัพท์มือถือของลูกหลาน หรือผู้ดูแลช่วยเหลือได้โดยทันที
ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย
เจ้าของผลงาน ทีม Syntheoxy
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
ชื่อผลงาน Dent crown AI x-ray
คุณชนนิกานต์ ตันจินดารัตน์ และคุณสุพัฒ เข็มเงิน 2 นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธฑล ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ทางทันตกรรมภายใต้ชื่อ “Dent crown AI x-ray” ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงการทำทันตกรรมที่เป็นไปได้ยาก ไม่ทั่วถึง และไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ พื้นที่ห่างไกลเพื่อลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยสามารถตรวจและวิเคราะห์ผลสุขภาพทางช่องปากได้ภายในเวลาเพียง 5 นาที เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริม work life balance ในการทำงาน พร้อมส่งมอบคุณค่าและความยั่งยืน 3 ประการ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ และนวัตกรรม
ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย
เจ้าของผลงาน ทีม Wheel Tech
โรงเรียนมัธยมฐานการบินกำแพงแสน
ชื่อผลงาน Wheel Tech Therapy Chair
"Wheel Tech Therapy Chair" หรือ วีลเเชร์เทคบำบัด นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่ป่วยเป็นสโตรก รวมถึงผู้พิการทางการและแขนจากโรคอื่น ๆ ซึ่งเป็นแนวคิดจากนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมัธยมฐานการบินกำแพงแสน ประกอบด้วย คุณชูพงษ์ ท่าฉลาด คุณณัฐพล กลิ่นปลาด คุณจิราวัฒน์ ล้วนโค และคุณรวีกานต์ พร้อมสุขสันต์ พร้อมร่วมกันพัฒนาวีลแชร์ให้มีฟังก์ชันกายภาพบำบัดให้กับแขนและขาได้ทุกที่ทุกเวลาโดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล และยังเพิ่มระบบการเคลื่อนที่อัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยีสามล้อเพื่อให้สามารถนำวีลแชร์ขึ้นบันไดได้ ทำให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ใช้งานและผู้ดูแลให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย
เจ้าของผลงาน ทีม ADHD101
มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชื่อผลงาน ADHD101
การผสานความร่วมมือของเยาวชนจาก 2 สถาบัน ประกอบด้วย คุณณัฐพีระ พงษ์ใหม่ คุณฐิติพร ทวีวรารักษ์ คุณกันต์ เมฆรักษาวนิช จากมหาวิทยาลัยมหิดล และคุณชาตรี คุรุภากรณ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คิดค้นและพัฒนาแพลตฟอร์ม “ADHA101” ซึ่งเป็น Community และสื่อการสอนที่ให้ความรู้สำหรับครู ผู้ปกครอง และคนรอบข้าง เข้าใจพฤติกรรมเด็กที่อยู่ในภาวะสมาธิสั้น พร้อมเรียนรู้และเข้าใจวิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้คำปรึกษาผ่านแพลตฟอร์ม ตลอดจนสร้างสรรค์เกมที่จะช่วยทดสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับภาวะสมาธิสั้น นอกจากนี้ร่วมบริจาคทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ประสบปัญหากับภาวะสมาธิสั้นได้มีโอกาสใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไปได้อีกด้วย